คุณค่าคนเกษียณ

เมื่อถึงวันหนึ่ง วันที่หลายคนต้องถอดหมวก ถอดตำแหน่งการงาน เรียกว่า ‘ถอดหัวโขน’ วันนั้นชีวิตคุณจะเป็นเช่นใด เป็นไปได้ว่าเราอาจต้องใช้ชีวิตในวัยเกษียณนานมากขึ้น เพราะสังคมโลกในวันข้างหน้า อายุเฉลี่ยของคนจะเพิ่มมากขึ้น (อายุยืน) เด็กเกิดใหม่จะน้อยลง คาดการณ์ว่าในยุคที่เด็ก 4 คนดูแลคนแก่ 1 คน จะกลายเป็นเด็ก 1 คน ต้องดูแลคนแก่ 4 คน

ดังนั้น วันนี้เราจึงควรวางแผนให้พร้อมสำหรับวัยเกษียณ 2 เรื่อง ได้แก่
(1) ความพร้อมทางการเงิน (financial)  (อ่านบทความ "ออมสุข ออมเงิน")
(2) ความพร้อมทางจิตใจ (psychological)

แนวทางการสร้างความพร้อมทางจิตใจของคนวัยเกษียณ 4 ระยะ

🔸ระยะที่ 1 พักร้อน (Vacation)
คนวัยเกษียณ จะตื่นกี่โมงก็ได้ จะทำอะไรก็ได้ จะไปไหนก็ได้ ไม่ต้องทำตามคำสั่งใคร ใช้ชีวิตอย่างสบายใจ

🔸ระยะที่ 2 เริ่มเบื่อ (Bored)
ในช่วงหนึ่งปีหลังเกษียณเราจะเริ่มเบื่อ จากความรู้สึกสูญเสียครั้งสำคัญ 5 ประการ (Big Five Loss and Lost) ได้แก่
1) สูญเสียกิจวัตร (routine) จากการ ‘อยากทำอะไรก็ทำ’ ตื่นและนอนไม่เป็นเวลา และใช้ชีวิตแบบไร้แบบแผนมาระยะหนึ่ง
(2) สูญเสียอัตลักษณ์ (identity) จากการถูก ‘ถอดหัวโขน’ ไม่สามารถมั่นใจได้ว่า เราจะยังใช้พลังได้อย่างที่เคยอยู่หรือไม่
(3) สูญเสียความสัมพันธ์กับเพื่อนที่ทำงาน (relationship with people at work) ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ห้างเหินหรือถดถอยไป
(4) สูญเสียจุดมุ่งหมาย (sense of purpose) ไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้จะตื่นมาทำอะไรเพื่ออะไร
(5) สูญเสียอำนาจ (power) เมื่อถอดหัวโขน สิ่งที่เคยทำได้ก็ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป

นอกจาก 5 ความสูญเสียที่หายไปแล้ว เราอาจยังต้องเผชิญ 3D อีกด้วย ได้แก่
Divorce คู่ชีวิตแยกทาง
Depression ความไร้ค่า ซึมเศร้าเหงาหงอย และ
Decline กายใจ และสติปัญญาทรุดโทรม

ระยะที่สองนี้ เป็นความเจ็บปวดที่สำคัญ ของชาวเกษียณที่ไม่ได้ตระหนักเตรียมกายใจไว้ล่วงหน้า จนกระทั่งถึงวันที่ลุกขึ้นมาบอกกับตัวเองว่า "เราจะอยู่แบบนี้ไปจนตายไม่ได้" … นั่นเอง จึงจะเข้าสู่ระยะที่สามได้

🔸ระยะที่ 3 ลองผิดลองถูก (Trial & Error)
เริ่มต่อยอดที่จะไม่อยู่แบบนี้ไปจนตาย ด้วยคำถามกับตัวเองว่า ‘เราจะกลับมามีคุณค่าได้อย่างไร’ เราอาจลองทำอะไรใหม่ ๆ หลาย ๆ อย่างที่เคยอยากทำ เช่น เป็นอาสาสมัคร เป็นกรรมการหมู่บ้าน เรียนหนังสือเพิ่มเติม ขายของออนไลน์ เขียนบทความ หรือเปิดคอร์สสอนวิชาที่เราช่ำชอง

ช่วงนี้เราอาจพยความผิดหวังมากกว่าความสำเร็จ แต่ก็ต้องค้นพบให้ได้ว่า เหตุผลของการตื่นนอนตอนเช้าของเราคืออะไร ไม่เช่นนั้นเราอาจต้องกลับไปอยู่ระยะที่ 2 อีกก็เป็นไปได้ ซึ่งนั่นไม่ใช่เพียงแค่ความสูญเสีย แต่มันจะเป็นหายนะของชีวิตเรา จึงอย่าหยุดค้นหา และควรต้องให้เวลากับตัวเองให้มากเพื่อเข้าสู่ระยะสุดท้าย

🔸ระยะที่ 4 สร้างตัวตนใหม่ (Reinvent & Rewire)
ระยะที่สามารถค้นพบกิจกรรมที่ทำให้เรามีเป้าหมาย และได้พบความสำเร็จ ซึ่งสีวนใหญ่เป็นกิจกรรมเพื่อคนอื่น สังคม ชุมชน หรือประเทศชาติ

สำคัญคือ ระยะที่สี่นี้จะทำให้ความสูญเสียที่เคยมีในระยะที่สอง หวนกลับมาสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็นกิจวัตร อัตลักษณ์ ความสัมพันธ์ จุดมุ่งหมาย และที่สำคัญคือ ความรู้สึกว่า ‘เรามีคุณค่า’

บทสรุป

สำหรับคนที่กำลังจะเกษียณ ขอให้สนุกกับการพักร้อนในระยะที่ 1 เตรียมใจพบกับความสูญเสียในระยะที่ 2 พร้อมจะลองผิดลองถูกในระยะที่ 3 และใช้วัยเกษียณให้คุ้มค่าและอิ่มเอมในระยะที่ 4

ปรุงแต่งจากข้อมูล The 4 phases of retirement | Dr. Riley Moynes

ฉุก
เฉิน