แนวโน้มการเลื่อนวัยเกษียณ

หลังทำงานมานานหลายสิบปี ก็ถึงเวลาพัก ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่นเล่นกับหลาน หรือท่องเที่ยว ไปเข้าสังคมกับคนวัยเดียวกันพร้อมยิ้ม หัวเราะ หรือซาบซึ้งกับเรื่องในอดีต โดยไม่ต้องมีชีวิตผูกติดกับตารางเวลาและเรื่องงานเหมือนในอดีตอีกต่อไป นั่นเป็นเรื่องของคนวัยเกษียณ (อายุ 60 ปีขึ้นไป)

แต่ตลอดหลายปีมานี้ กลุ่มคนที่สามารถเกษียณสำราญอยู่กับบ้านกำลังลดลงๆ และมีแนวโน้มว่า ต่อไปเพื่อนร่วมงานผมสีดอกเลาในออฟฟิศจะมีเพิ่มมากขึ้นๆ

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า คนทั่วโลกอายุยืนขึ้น โดยอายุเฉลี่ยระหว่างปี 2000 ถึง 2019 เพิ่มจาก 67 ปีเป็น 73 ปี และจะยิ่งเพิ่มขึ้นอีก จนทำให้เมื่อถึงปี 2050  1 ใน 6 ของประชากรโลก จะมีอายุ 65 ปีขึ้นไป 

ซึ่งหากไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนใดๆ หลายประเทศอาจขาดแคลนคนวัยทำงาน เพราะผู้สูงวัยมีมากกว่าคนที่ยังทำงานอยู่ ท่ามกลางการประเมินว่า กลุ่มประเทศสหราชอาณาจักร (UK) จะถึงจุดดังกล่าวในปี 2029 

ขณะที่บราซิล อินเดีย และสหรัฐฯ จะทยอยตามกันไป 2035, 2048 และ 2053 อย่างไรก็ตามในความเป็นจริง มีอีกเทรนด์ที่กำลังก่อตัว และทุกบริษัททั่วโลกต่างสัมผัสได้ 

นั่นคือ คนอายุ 60 ปีขึ้นไป ยังคงทำงานอยู่ทั้งที่ถึงวัยเกษียณแล้ว หรือคนที่เกิดช่วงสงครามโลกที่ยังทำงานอยู่ (Unretirement Babyboom) จนอายุเกษียณเลื่อนไปเป็น 65 ปี ซึ่งอนาคตอายุเกษียณอาจจะเลื่อนออกไปอีก 

สำนักข่าว BBC ของอังกฤษนำเรื่องนี้มาตีแผ่ โดยมีการคาดการณ์ผ่านทัศนะของนักวิชาการว่า เกณฑ์อายุเกษียณจะเลื่อนออกไปอีก โดยจาก 65 ปีในปัจจุบัน อาจเลื่อนไปเป็น 75 ปี เพราะผู้คนอายุยืนขึ้นและคนสูงวัยส่วนใหญ่ก็ยังแข็งแรง ประกอบเห็นว่าหากพิจารณาปัญหาเศรษฐกิจและค่าครองชีพในปัจจุบันแล้ว เงินที่เก็บหอมรอมริบมาคงหมดไปอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถเกษียณได้อย่างสบายใจ 

ความกังวลเรื่องชีวิตความเป็นอยู่และสถานะทางการเงินของผู้สูงวัย จนเลือกที่จะทำงานต่อไปยังมีข้อมูลสนับสนุนจากบริษัทประกันชีวิตในสหรัฐฯที่ว่า หากอยากเกษียณได้อย่างหมดห่วงในปัจจุบันต้องมีเงินเก็บเกือบ 1.3 ล้านดอลลาร์ (ราว 47 ล้านบาท) 

ขณะที่ Larry Fink ซีอีโอของ Blackrock บริษัทบริหารจัดการการลงทุนยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ กล่าวกับนักลงทุนว่าค่าครองชีพ และปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันสูงและรุนแรงกว่าเมื่อ 30 ปีก่อนอย่างมาก จึงควรเลื่อนเกณฑ์อายุเกษียณควรเลื่อนจาก 65 ปีได้แล้ว 

ดังนั้น สิ่งจะเห็นกันมากขึ้นจากนี้คือ การปรับตัวของบริษัททั่วโลก โดยทุกแผนกในแต่ละออฟฟิศจะมีคนสูงวัยที่สมัครใจทำงานอยู่ และอาจมีสองประเภท 

กล่าวคือ ผู้ที่ทำงานระดับล่าง เพราะปรับตัวไม่ไหว กับผู้ที่ยังคงอยู่ในตำแหน่งระดับสูง เพราะปรับตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องการอยู่ร่วมกับคนรุ่นอายุน้อยกว่าและเรื่องการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI 

เทรนด์การเลื่อนวัยเกษียณ และการให้คนสูงวัยทำงานต่อไป ยังทำให้การให้คนอายุน้อยกว่าสลับมาสอนผู้สูงวัย (Reverse Mentorship) กับการพัฒนาทักษะใหม่ๆ (Upskilling) อยู่เสมอ เป็นเรื่องปกติในทุกบริษัท และทักษะการอยู่ทำงานร่วมกันของคนต่างวัย เพื่อลดการเหยียดวัย (Ageism) ทวีความจำเป็นในโลกการทำงานอีกด้วย 

เทรนด์การเลื่อนวัยเกษียณ ยังเป็นการลดภาระของรัฐบาลทั่วโลกเรื่องสวัสดิการผู้สูงอายุ และช่วยให้สามารถนำเงินส่วนนี้ไปใช้พัฒนาประเทศด้านอื่นๆ เช่น ในเกาหลีใต้ ที่กำลังถกเถียงกันว่า ควรเก็บค่าโดยสารรถไฟใต้ดินกรุงโซลกับผู้สูงอายุวัย 65 ปีขึ้นไปหรือไม่ เพราะคนกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อย ใช้สวัสดิการขึ้นรถไฟใต้ดินฟรีไปกับการทำงานส่งดอกไม้ จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รถไฟใต้ดินกรุงโซลสูญรายได้ไปถึงปีละ 250 ล้านดอลลาร์ (ราว 9,200 ล้านบาท) 

อย่างไรก็ตาม เทรนด์การเลื่อนวัยเกษียณ ก็มีข้อจำกัด เพราะเทรนด์นี้มีขึ้นควบคู่กับอัตราการเกิดต่ำ จึงหมายความว่า การเลื่อนขั้นย่อมทำได้ช้าลงกว่าในอดีต ซึ่งปัจจุบันเกิดขึ้นแล้ว กับการที่กลุ่ม Gen X ที่อายุระหว่าง 44 ถึง 59 ปี (พ.ศ. 2567) ไม่ได้เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าแผนกเสียที เพราะ Babyboom ยังไม่วางมือ

ที่มา : BBC, yahoofinance

TheAcademy

ฉุก
เฉิน